ผ้าพระบฏ (THANGKA)
ผ้าทังก้า (THANGKA) หรือ ที่ภาษาไทยเรียกว่า ผ้าพระบฏ คือภาพวาดและภาพปักบนผืนผ้าไหม เขียนเป็นรูปของพระพุทธเจ้า, เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า (เช่นพระพุทธประวัติ หรือ ชาดก), เทพเจ้า, พระโพธิสัตว์ต่างๆ ในพุทธศาสนา หรือ เป็นภาพจักรวาลตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาวัชรยานสายทิเบต
ผ้าทังก้าถือเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงของพุทธศาสนิกชนสายวัชรยาน อันได้แก่ ชาวทิเบต เนปาล สิกขิม และ ภูฏาน ทำขึ้นเพื่อเทิดทูนบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ที่ตนเองนับถือ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายในการประกาศธรรม โดยนิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพบูชา นอกจากนี้ ผ้าทังก้า ยังมีสถานะดั่งยันต์ กันภูตผีและวิญญาณร้าย รวมถึงอวิชชา ความโง่เขลามิให้มาแผ้วพาน และสุดท้ายคือประดับให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่สำหรับภูฏาน รัฐบาลยังกำหนดให้ใช้เป็นเครื่องบรรณาการแด่อาคันตุกะที่มาจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอีกด้วย
ผ้าทังก้าตามคตินิยมของพุทธศาสนิกชนสายวัชระยาน แตกต่างจากผ้าพระบฏของชาวไทยตรงที่พระสงฆ์จะเป็นผู้ทำขึ้น โดยก่อนที่จะมีขนาดใหญ่โตนั้น มักทำขนาดเล็กๆ ประดับภาพพระศรีสากยมุนี หรือพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ และพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ ที่นับถืออยู่บนผืนผ้าเดียวกัน สามารถม้วนเก็บสะดวกแล้วนำติดตัวไประหว่างการจาริกรอนแรมเพื่อเผยแพร่ธรรมในถิ่นทุรกันดาร หรือในยามศึกสงครามก็เก็บซ่อนได้ง่าย
ตามความเชื่อของชาวพุทธสายวัชรยาน พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์คือพระบริสุทธิคุณ ผู้ทรงเมตตาปล่อยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้แต่ผู้ที่ทำบาปถึงขั้นปิตุฆาตหรือมาตุฆาต หรือแม้แต่ผิดคำสัตย์สาบานต่อพระภิกษุสงฆ์ หากแม้นสำนึกผิด หันมาทำความดี โดยระลึกถึง หรือสัมผัสพระพุทธรูป ฟังพระธรรมคำสอน กระทั่งเพ่งมองผ้าทังก้าด้วยจิตศรัทธา ก็สามารถไถ่บาปของตนเองได้ … จนมีคำกล่าวว่า “เพียงได้ยลก็หลุดพ้นได้”
คำว่า "ทังก้า" มาจากภาษาทิเบต ทัง (Thang) แปลว่า “ธง” กา (Ka) แปลว่า “ภาพวาด” ดังนั้น ทังก้า จึงมีความหมายว่า จิตรกรรมบนผืนธง ประวัติความเป็นมาของทังก้ายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เท่าที่มีการค้นคว้าและรวบรวมจิตรกรรมทังก้าในแบบอย่างศิลปะหิมาลัย พบผ้าทังก้าที่เก่าแก่ที่สุดในเนปาล วาดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 11
จิตรกรรมทังก้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งล้ำค่าทางพุทธศาสนาที่ได้รับแบบอย่างและอิทธิพลจากทิเบต ทังก้าจึงเป็นมากกว่าภาพวาดธรรมดา จุดประสงค์ของการสร้างภาพทังก้า ก็เพื่อเป็นศาสนวัตถุ เชื่อว่าผู้วาดจะได้รับบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากจิตรกรผู้เขียนจะไม่ลงนามผู้วาด เพราะธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธถือว่า การกระทำสิ่งใดเพื่อพุทธศาสนาเป็นบุญกุศลต่อผู้สร้างและเป็นการบำรุงพระศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะสืบค้นถึงผู้สร้างสรรค์ได้
การวาดทังก้าแบบโบราณดั้งเดิมมีกรรมวิธีที่ละเอียดอ่อน วิธีการวาดค่อนข้างซับซ้อน กระบวนการทำก็ค่อนข้างยากลำบากใช้เวลาเนิ่นนาน บางคนบอกว่าสีที่ใช้เขียนก็ต้องเป็นสีธรรมชาติที่ต้องเสาะหามาจากแร่ธาตุแถบเทือกเขาสูงของหิมาลัย เมื่อได้มาแล้วก็ต้องนำมาบดผสมกับยางไม้ธรรมชาติ อาจจะใช้ทองคำเป็นส่วนผสมร่วมกับน้ำแร่จากแหล่งธรรมชาติ ก่อนจะลงมือวาดและเขียนด้วยเกรียงที่ทำจากเขาของจามรี ด้วยความชำนาญเชิงช่างของผู้วาด ที่ใช้เวลานานในการบรรจงวาดและลงสีในทุกรายละเอียด ผลงานของผ้าทังก้าแต่ละผืนจึงงดงามอลังการ สีสันสดใส แม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปี
ในปัจจุบัน ทังกา ทำจากผ้าไหมยกดอก เย็บต่อกันเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ปักอย่างประณีต นำมาตัดเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ มีการเก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอม โดยปกติแล้ว ผ้าทังก้าคงสภาพความเงางามและสีสันได้เป็นเวลานาน แต่เนื่องจากลักษณะอันละเอียดอ่อนของผ้า จึงจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในที่แห้งเพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผ้าไหมได้
ข้อมูลโดย :
1. ทังก้า ผ้าพระบฏ ผืนผ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งพูนาคา เพียงได้ยลก็หลุดพ้นได้
2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
3. พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า โดย จารุณี อินเฉิดฉาย วารสารเมืองโบราณ
ผ้าพระบฏ (THANGKA)
ผ้าพระบฏ (THANGKA)
ผ้าพระบฏ (THANGKA)
ผ้าพระบฏ (THANGKA)
ผ้าพระบฏ (THANGKA)
วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง เครื่องรางความรัก เมตตามหานิยม-มหาเสน่ห์ โชคลาภค้าขาย View My Stats